Loading...

การกำหนดจุดเก็บตัวอย่าง

  • วันที่ 2018-09-09
  • View 2260

ที่มา:กรมควบคุมมลพิษ

ในการกำหนดจุดเก็บตัวอย่างน้ำนั้น ก่อนอื่นเราต้องทำความเข้าใจกับแหล่งน้ำเสียก่อน ซึ่งแหล่งน้ำสามารถแบ่งออกได้เป็น ๒ ประเภทหลัก ดังนี้

๑. แหล่งนํ้าผิวดิน หมายถึง แม่น้ำ ลำคลอง หนองบึง ทะเลสาบ อ่างเก็บน้ำ และแหล่งน้ำสาธารณะอื่นๆ ที่อยู่ภายในผืนดิน ซึ่ง หมายความรวมถึงแหล่งน้ำสาธารณะที่อยู่บนพื้นดินบนเกาะด้วยแต่ไม่รวมถึงน้ำบาดาลและในกรณีที่แหล่งน้ำนั้นติดทะเล ให้ความถึงแหล่งน้ำอยู่ภายในปากแม่น้ำหรือปากทะเลสาบด้วยการสำรวจและเก็บตัวอย่างน้ำจากแหล่งน้ำผิวดินเป็นการติดตามตรวจสอบคุณภาพน้ำเพื่อให้ได้ข้อมูลลักษณะสมบัติทางกายภาพ เคมี และชีวภาพ ณ ปัจจุบันของแหล่งน้ำ เพื่อใช้เป็นแนวทางบริหารจัดการคุณภาพน้ำให้เป็นไปตามมาตรฐานคุณภาพน้ำผิวดิน และมีความเหมาะสมต่อการอุปโภคบริโภค การอนุรักษ์ระบบนิเวศของแหล่งน้ำ การประมง การนันทนาการ การเกษตร การอุตสาหกรรมและการคมนาคม

๒. แหล่งนํ้าทะเล หมายถึง น้ำทั้งหมดในเขตน่านนํ้าไทยตามพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านนํ้าไทย พ.ศ. ๒๔๕๖ แต่ไม่รวมถึงนํ้าในแหล่งนํ้าผิวดินการสำรวจและเก็บตัวอย่างนํ้าจากแหล่งนํ้าทะเล เพื่อประเมินสถานภาพแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงของแหล่งนํ้าทะเล ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อการป้องกันและแก้ไขปัญหาคุณภาพนํ้าและสิ่งแวดล้อมทางทะเลจากกิจกรรมต่างๆทั้งทางตรงและทางอ้อมซึ่งมีผลกระทบโดยตรงต่อการดำรงรงอยู่ของสิ่งมีชีวิตในนํ้า และการใช้ประโยชน์ในพื้นที่นั้นๆ รวมทั้งผลกระทบต่อมนุษย์ นอกจากนี้ ผลการวิเคราะห์คุณภาพนํ้าทะเลยังเป็นประโยชน์ เพื่อการจัดลำดับความสำคัญของพื้นที่ที่ต้องได้รับการแก้ไขรวมถึงการประเมินผลกระทบที่เกิดขึ้นแก่สิ่งแวดล้อม และการติดตามตรวจสอบควบคุมคุณภาพให้เป็นไปตามมาตรฐานคุณภาพนํ้าทะเล และมีความเหมาะสมต่อการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติการอนุรักษ์แหล่งปะการัง การเพาะเลี้ยงสัตว์นํ้า การนันทนาการการอุตสาหกรรม และการคมนาคม

การกำหนดจุดเก็บตัวอย่างน้ำ

จุดเก็บตัวอย่างนํ้าผิวดิน

โดยทั่วไปจุดเก็บตัวอย่างนํ้าจะประกอบด้วย ๓ ส่วนใหญ่ๆ ซึ่งใช้เป็นหลักในการกำหนดจุดเก็บนํ้า ได้แก่

(๑) จุดอ้างอิง (Reference Site) ได้แก่ จุดต้นนํ้า หรือจุดที่ยังไม่ได้รับผลกระทบจากแหล่งมลพิษใดๆ ซึ่งใช้อ้างอิงสภาพธรรมชาติที่แท้จริงของแหล่งนํ้านั้นๆ

(๒) จุดตรวจสอบการเปลี่ยนแปลงของคุณภาพนํ้า (Sampling site) เป็นจุดตรวจสอบคุณภาพน้ำที่อยู่ในช่วงที่มีการใช้ประโยชน์หรือได้รับผลกระทบจากแหล่งมลพิษต่างๆของแหล่งน้ำโดยจุดตรวจสอบจะกำหนดขึ้นเพื่อใช้ตรวจแนวโน้มของสภาพปัญหาในแหล่งนํ้าที่จะมีการเปลี่ยนแปลงในระยะยาว เพื่อประโยชน์ในการวางแผนจัดการคุณภาพนํ้าตามทิศทางของปัญหา

(๓) จุดตรวจสอบท้ายนํ้า (Global river flux site) ได้แก่ จุดตรวจสอบบริเวณปากแม่นํ้าหรือปลายสุดของแหล่งน้ำก่อนจะถูกระบายลงสู่แหล่งรองรับน้ำอื่นๆ ทะเล หรือมหาสมุทร เป็นต้น เป็นจุดที่ใช้ตรวจสอบสถานภาพของแหล่งนํ้าลำดับสุดท้ายเพื่อประเมินผลกระทบที่เกิดขึ้นหลังจากผ่านแหล่งรองรับมลสารต่างๆ ตลอดทั้งลำนํ้าแล้ว